ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 สถาบันการเงินประสบปัญหามีหนี้ด้อยคุณภาพในอัตราสูง ในขณะนั้นจึงมีความต้องการศูนย์ข้อมูลเครดิตกลาง เพื่อให้มีข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อลูกหนี้อย่างเพียงพอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อที่อนุมัติมีคุณภาพดีและไม่ก่อให้เกิดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง ในปี 2542 จึงได้มีการจัดตั้งบริษัทเอกชนเพื่อดำเนินการเป็นศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้น 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และ บริษัทระบบข้อมูลกลาง จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด) ทั้งสองบริษัททำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก แล้วนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิตสำหรับลูกค้าแต่ละราย ภาระหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงินทั้งหมด และให้บริการข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ดังกล่าวแก่สมาชิก
ในปี 2545 ทางการได้ออกพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2546 เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต รวมถึงคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลด้วย โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้แก่ ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ของเจ้าของข้อมูล เป็นต้น
ต่อมาในปี 2548 บริษัทข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีบริษัทข้อมูลเครดิตเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี NCB เท่านั้นที่ให้บริการข้อมูลเครดิตในประเทศไทย