มุมประชาชน

การอุทธรณ์

ขั้นตอนการอุทธรณ์ข้อโต้แย้ง

วิธีการยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้ง

ตัวอย่างเรื่องร้องเรียนและแนววินิจฉัยของคณะกรรมการ

ที่ผ่านมามีหลาย ๆ กรณีที่เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิอุทธรณ์/ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ว่าสถาบันการเงินนำส่งข้อมูลเครดิตของตนไม่ถูกต้อง และขอให้แก้ไขข้อมูลเครดิต หรือลบประวัติข้อมูลเครดิต แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่เรื่องอุทธรณ์/ร้องทุกข์มาที่ กคค. จะได้รับการวินิจฉัยสั่งการให้สถาบันการเงินแก้ไขข้อมูลเครดิตให้ตามที่อุทธรณ์/ ร้องทุกข์มา เนื่องจากพบข้อเท็จจริงในหลายกรณีว่า สถาบันการเงินได้นำส่งข้อมูลเครดิตของเจ้าของข้อมูลเป็นไปตามข้อเท็จจริงแล้ว

ดังนั้น จึงควรมาทำความเข้าใจกันว่ามีกรณีการอุทธรณ์/ร้องทุกข์ลักษณะใดบ้างที่เจ้าของข้อมูลอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสถาบันการเงินรายงานข้อมูลของตนไม่ถูกต้อง ขณะที่ กคค. ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าสถาบันการเงินรายงานข้อมูลเป็นไปตามข้อเท็จจริงแล้ว

1. การอุทธรณ์ร้องทุกข์เกี่ยวกับกรณีการเช่าซื้อรถยนต์ /รถจักรยานยนต์

1.1 กรณีผู้เช่าซื้อต้องการคืน รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ให้กับสถาบันการเงินเพราะผ่อนต่อไม่ไหว

หากท่านในฐานะลูกหนี้ที่ทำสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ กับสถาบันการเงินและต่อมาได้แจ้งความประสงค์ที่จะคืนรถให้กับสถาบันการเงินเพราะผ่อนค่าเช่าซื้อต่อไปไม่ไหว โดยกฎหมายจะถือว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงินจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้นำ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ไปคืนให้กับสถาบันการเงินแล้ว แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งเมื่อสถาบันการเงินได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้ว สถาบันการเงินจะมีขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ เช่น มีหนังสือถึงลูกหนี้เพื่อแจ้งให้ใช้สิทธิซื้อ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ คืนภายในเวลาที่กำหนด และถ้าลูกหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว สถาบันการเงินจะนำ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ นั้น ออกขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาด

การรายงานข้อมูลเครดิต/ การพิจารณาข้ออุทธรณ์ ร้องทุกข์ของ กคค.

ในระหว่างที่รถยนต์/รถจักรยานยนต์ของท่านรอการออกขายทอดตลาดนั้น ข้อมูลเครดิตของท่านจะถูกรายงานตามข้อเท็จจริง ของงวดล่าสุดก่อนการคืนรถยนต์/ รถจักรยานยนต์ ต่อเนื่องไปจนกว่ากระบวนการขายทอดตลาดจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นสถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบผลการประมูลขายทอดตลาด รวมทั้งแจ้งให้ชำระหนี้เพิ่มหากราคารถยนต์/รถจักรยานยนต์ที่ขายได้ต่ำกว่ามูลหนี้ หรือแจ้งคืนเงินให้ลูกหนี้หากราคารถยนต์/รถจักรยานยนต์ที่ขายได้สูงกว่ามูลหนี้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นไปตามข้อสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ทำไว้กับสถาบันการเงิน และต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 หรือ พ.ศ. 2555 แล้วแต่ช่วงเวลาที่ลูกค้าทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงินด้วย ทั้งนี้ มีหลายกรณีที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์เข้าใจผิดว่า "การคืนรถยนต์เท่ากับหมดหนี้" จนมีหนังสืออุทธรณ์ร้องทุกข์มายัง กคค. เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดให้สถาบันการเงินแก้ไข หรือ ลบประวัติค้างชำระในข้อมูลเครดิตที่นำส่งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) แต่เมื่อ กคค. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากผู้อุทธรณ์ และสถาบันการเงินแล้ว พบว่า ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ส่วนขาดตามกำหนดเวลาที่สถาบันการเงินได้มีหนังสือแจ้งภาระหนี้ดังกล่าว จึงเท่ากับว่าลูกหนี้ยังมีหนี้ค้างชำระ สถาบันการเงินจึงมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ตามข้อเท็จจริงต่อ NCB ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามหลักเกณฑ์ข้อ 8 และข้อ 9 ของประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557

ข้อควรทราบ

ในกรณีที่ท่านประสงค์จะยกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญา ท่านควรตรวจสอบข้อสัญญาที่ได้ทำไว้กับสถาบันการเงิน หารือกับสถาบันการเงินในสิ่งที่ท่านต้องดำเนินการ รวมถึงตรวจสอบภาระหนี้ที่ต้องชำระก่อนยกเลิกสัญญา เพื่อป้องกันมิให้ท่านผิดนัดชำระหนี้โดยมิได้เจตนา

2. การอุทธรณ์ร้องทุกข์เกี่ยวกับบัตรเครดิตต่าง ๆ

2.1 กรณีบัตรเครดิตหาย หรือถูกขโมย

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ทำบัตรเครดิตหายและถูกบุคคลอื่นนำไปรูดซื้อสินค้าก่อนที่ท่านจะรู้ตัวและโทรไปแจ้งระงับการใช้บัตร (อายัดบัตร) กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรให้ ซึ่งต่อมาได้มีรายการเรียกเก็บเงินมายังท่าน ซึ่งท่านก็ได้ปฏิเสธรายการใช้จ่ายบัตรดังกล่าวตามขั้นตอนที่สถาบันการเงินกำหนดแล้วแต่ธนาคารก็ยังคงยืนยันที่จะให้ท่านชำระเงินที่เกิดจากรายการใช้จ่ายดังกล่าว

หากท่านไม่ชำระเงินให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินภายในเวลาและตามจำนวนที่กำหนด ธนาคารหรือสถาบันการเงินเหล่านั้นก็จะนำส่งข้อมูลเครดิตของท่านให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตว่าท่านมีประวัติค้างชำระ จนเป็นเหตุมาสู่การอุทธรณ์/ร้องทุกข์ต่อ กคค. เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดให้สถาบันการเงินแก้ไขข้อมูลเป็นไม่ค้างชำระ

การรายงานข้อมูลเครดิต/ การพิจารณาข้ออุทธรณ์ ร้องทุกข์ของ กคค.

ในการพิจารณาข้ออุทธรณ์ ร้องทุกข์ของ กคค. จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งจากท่านและสถาบันการเงิน ร่วมกับเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ ที่ท่านได้ทำไว้กับสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงกระบวนการหรือขั้นตอนในการโต้แย้งรายการของบริษัทวีซาการ์ดและบริษัทมาสเตอร์การ์ด ซึ่งกรณีอุทธรณ์ลักษณะนี้ แม้ว่าท่านซึ่งเป็นเจ้าของบัตรจะได้ดำเนินการอายัดบัตรและโต้แย้งรายการค่าใช้จ่ายที่บุคคลอื่นนำไปใช้แล้วก็ตาม แต่หากรายการใช้จ่ายดังกล่าวเกิดก่อนที่ท่านจะโทรอายัดบัตร หรืออาจเกิดภายหลังอายัดบัตรแล้วแต่กรณี แต่ยังอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อกำหนดการใช้บัตรเครดิตของธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตร เช่น สถาบันการเงินผู้ออกบัตรอาจมีข้อกำหนดว่าจะรับผิดชอบยอดหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับแจ้งอายัดและได้วางโทรศัพท์ผ่านพ้นไปแล้ว 5 นาที รายการที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาดังกล่าวจึงยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถือบัตร หรืออาจเป็นกรณีที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรได้ทำรายการโต้แย้งไปยังธนาคารร้านค้าแล้ว แต่การโต้แย้งรายการดังกล่าวไม่สำเร็จ ธนาคารหรือสถาบันการเงินจึงยังคงเรียกเก็บเงินจากท่าน ดังนั้น เมื่อ กคค. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว ส่วนมากจะมีแนววินิจฉัยให้สถาบันการเงินสามารถนำส่งข้อมูลเครดิตว่า "ค้างชำระ" ต่อไปได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์จนได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 14 ของประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 โดยกระบวนการพิสูจน์จนได้ข้อยุติมักจะเป็นกรณีที่ท่านและสถาบันการเงินได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล และศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุตินั้น ในรายงานข้อมูลเครดิตจะมีถ้อยคำ "ใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไข/ โต้แย้ง/ บันทึกข้อมูล" ที่บอกให้ท่านทราบว่าอยู่ระหว่างการใช้สิทธิโต้แย้งข้อมูลกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ หากในเวลาต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ท่านเป็นฝ่ายชนะคดี ท่านสามารถนำคำพิพากษาไปแจ้งต่อสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินหยุดส่งและแก้ไขข้อมูลเครดิตของท่าน ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลได้

ข้อควรทราบ

เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและขั้นตอนการอายัดบัตรและโต้แย้งรายการที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านต้องการโต้แย้งรายการที่เกิดจากบัตรหายหรือถูกขโมย ท่านควรสอบถามธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านต้องดำเนินการให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ท่านสามารถอ่านแนววินิจฉัยของกรรมการเพิ่มเติมได้ที่แนววินิจฉัยของกรรมการ

หมายเหตุ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คำนิยามของ "สมาชิก" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากประกอบด้วยสถาบันการเงิน แล้วจะครอบคลุม ถึงผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้วย โดยสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางฯ จะมีหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ แตกต่างจากสมาชิกประเภทสถาบันการเงินบางประการด้วย