มุมสมาชิก

การไม่นำส่งข้อมูลหรือการนำส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน

ข้อเท็จจริง

ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติสินเชื่อ Floor Plan จากสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2558 และสถาบันการเงินเริ่มนำส่งข้อมูลสินเชื่อ Floor Plan งวดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2559 และจัดส่งหนังสือแจ้งลูกค้ารายปีให้ผู้อุทธรณ์ทราบทุกเดือน ต่อมาในปี 2560 สถาบันการเงินเริ่มใช้วิธีการส่งหนังสือแจ้งลูกค้ารายปีแบบปีบัญชี (วันที่ 1 เมษายน 2559 - วันที่ 31 มีนาคม 2560) ซึ่งต้องนำส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2560 แต่สถาบันการเงินได้รวบรวมนำส่งหนังสือแจ้งรายปีครั้งเดียวของงวดเดือนมกราคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเกิดจากพนักงานเข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อน

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

1. การที่สถาบันการเงินไม่ได้นำส่งข้อมูลเครดิตสินเชื่อ Floor Plan ของผู้อุทธรณ์ในงวดเดือนตุลาคม 2559 เป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามข้อ 2 ของหนังสือซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติตามข้อ 8 ของประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2559 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. การที่สถาบันการเงินไม่ได้นำส่งหนังสือแจ้งลูกค้ารายปีให้ผู้อุทธรณ์ทราบในปี 2560 และนำส่งล่าช้าในปี 2561 พิจารณาได้ว่า

2.1 ในปีบัญชี 2560 ข้อมูลที่นำส่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 สถาบันการเงินได้มีหนังสือแจ้งการนำส่งข้อมูลให้ผู้อุทธรณ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2559 และครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2559 แล้ว สำหรับปีบัญชี 2560 ต้องนำส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2560 ซึ่งไม่พบว่าสถาบันการเงินได้นำส่งหนังสือแจ้งรายปีแก่ผู้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว

2.2 ปีบัญชี 2561 ข้อมูลที่นำส่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 สถาบันการเงินได้นำส่งหนังสือแจ้งรายปีแก่ผู้อุทธรณ์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด

การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 17 ของประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 48 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อเท็จจริง

เพื่อให้การปฏิบัติของสมาชิกเป็นไปตามข้อ 8 ของประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 กคค. จึงได้ออกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการนำส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2559 กรณีสมาชิกมีธุรกรรมอันมีลักษณะเป็นการสนับสนุนวงเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (สินเชื่อ Floor Plan) ประเภทผลิตภัณฑ์เพื่อซื้อสินค้าคงคลัง ไม่ว่าธุรกรรมเหล่านั้น จะมีรูปแบบสัญญาในลักษณะใดก็ตาม ให้ถือว่าเป็นสินเชื่อตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องนำส่งข้อมูลเครดิตให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต โดยสมาชิกที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวก่อนวันที่หนังสือซักซ้อมมีผลใช้บังคับและสัญญาให้สินเชื่อยังมีผลผูกพัน ให้สมาชิกเริ่มนำส่งข้อมูลตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2559 และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฯ (วันที่ 9 ธันวาคม 2559

ต่อมาได้มีสมาชิกมีหนังสือขอขยายเวลาการนำส่งข้อมูลธุรกรรมสินเชื่อ Floor Plan ออกไปอีกกว่า 6 เดือนนับจากวันที่ กคค. กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยให้เหตุผลว่าผู้บริหารที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ทำสูญหาย ประกอบกับสมาชิกต้องปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้รองรับการนำส่งข้อมูลเครดิตสำหรับธุรกรรม Floor Plan และต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ รวมถึงการนำส่งข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรฐานของบริษัทแม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 6 เดือน

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

การที่สมาชิกอ้างว่าไม่ได้รับหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฯ เป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากบริษัทข้อมูลเครดิตได้นำส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฯ ให้แก่สมาชิกทุกรายทั้งทางระบบ Helpdesk และเป็นหนังสือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 รวมถึงทีมเลขานุการฯ ยังได้เผยแพร่หนังสือซักซ้อมฉบับดังกล่าวบนเว็บไซต์ของ กคค. ด้วยแล้ว นอกจากนั้น ประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและการส่งข้อมูลของสมาชิก ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 และหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้สมาชิกขอขยายเวลาในการดำเนินการได้ จึงถือว่าสมาชิกปฏิบัติไม่ชอบด้วยตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อเท็จจริง

สถาบันการเงินได้จ่ายเงินเป็นงวด ๆ ให้แก่ผู้ขายสินค้า เพื่อเป็นค่าซื้ออุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามความประสงค์ของลูกค้า เพื่อนำมาประกอบหรือจัดเตรียมเป็นทรัพย์ให้ลูกค้าเช่าซื้อตามที่ลูกค้าได้ขอสินเชื่อลีสซิ่งกับสถาบันการเงิน โดยในช่วงที่สถาบันการเงินได้จ่ายเงินในระหว่างการจัดเตรียมทรัพย์ไม่แล้วเสร็จ สถาบันการเงินไม่ได้นำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต เนื่องจากมีความเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ยังไม่มีผลบังคับเพราะลูกค้ายังไม่ได้รับมอบทรัพย์

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

การที่สถาบันการเงินได้จ่ายเงินค่าซื้ออุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้แก่ผู้ขายสินค้าตามความประสงค์ของลูกค้า ถือเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าอันมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 แล้ว โดยในช่วงระหว่างการจัดเตรียมทรัพย์ไม่แล้วเสร็จและสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ยังไม่มีผลบังคับนั้น สถาบันการเงินจะต้องนำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตเป็นประเภทสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ การที่ไม่นำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าดังกล่าวเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545

ข้อเท็จจริง

ลูกหนี้ได้ทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงิน โดยต้องผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายใน 84 งวด หรือภายในวันที่ 9 มกราคม 2559 (วันครบกำหนดสัญญา) ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตรงตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง จนครบ 84 งวด โดยชำระงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 และได้แจ้งสถาบันการเงินขอปิดสัญญาเงินกู้และไถ่ถอนจำนอง แต่สถาบันการเงินแจ้งว่ายังไม่สามารถไถ่ถอนจำนองได้เนื่องจากยังมีเงินต้นค้างชำระมากกว่า 4 แสนบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บและตามเงื่อนไขในสัญญา สถาบันการเงินยังสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งลูกหนี้ จึงเห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังได้นำส่งข้อมูลต่อ NCB ว่าลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 ลูกหนี้จึงอุทธรณ์ขอให้สถาบันการเงินแก้ไขข้อมูลยอดหนี้คงเหลือและสถานะบัญชีเป็นไม่ค้างชำระ

นอกจากประเด็นอุทธรณ์แล้ว ยังพบว่าการนำส่งข้อมูลให้ NCB ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2 ประเด็น ได้แก่

1. การนำส่งยอดชำระในแต่ละงวด (Installment amount) ไม่ครบถ้วน โดยขาด 2 งวดสุดท้าย ซึ่งสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เกิดจากการตั้งค่าในระบบงานที่กำหนดเงื่อนไขว่าหากวันชำระในงวดถัดไปตรงกับวันครบกำหนดสัญญาหรือเลยวันครบกำหนดสัญญา ระบบจะนำส่งยอด installment amount ด้วยยอด 0 บาท ดังนั้น การนำส่งข้อมูลของงวดเดือนธันวาคม 2558 ที่ระบบพบว่าวันที่ครบกำหนดชำระงวดถัดไปเป็นวันครบกำหนดสัญญา และงวดเดือนมกราคม 2559 ที่ระบบพบว่าสัญญาสิ้นสุดแล้ว ระบบจึงนำส่ง Installment amount ด้วยยอด 0 บาท

2. การนำส่งยอดหนี้ที่เกินกำหนดชำระ (Amount Past Due) ด้วยจำนวนคงที่ตั้งแต่วันที่สัญญาครบกำหนดเป็นต้นมา ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง โดยสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถาบันการเงินคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระนับจากวันที่ลูกค้าชำระครั้งล่าสุด คือ วันที่ 7 มกราคม 2559 จนถึงวันที่สัญญา ครบกำหนด คือ วันที่ 9 มกราคม 2559

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

1. กรณีข้ออุทธรณ์ขอให้แก้ไขยอดหนี้คงเหลือและสถานะบัญชีเป็นไม่ค้างชำระ เห็นว่า ผู้อุทธรณ์ยังมีหนี้ค้างชำระจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจริง และเนื่องจากข้ออุทธรณ์เรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงเป็นกรณีอุทธรณ์ที่ข้อโต้แย้งยังไม่เป็นที่ยุติ สถาบันการเงินจึงสามารถนำส่งข้อมูลของผู้อุทธรณ์ต่อไปได้ เป็นไปตามข้อ 14 ของประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล ลงวันที่ 5 กันยายน 2557

2. กรณีการนำส่งยอดผ่อนชำระในแต่ละงวดไม่ครบถ้วนนั้น เห็นว่า งวดเดือนธันวาคม 2558 เป็นงวดที่สัญญายังไม่สิ้นสุด ลูกค้ายังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อสถาบันการเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญา สถาบันการเงินต้องนำส่งข้อมูลให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ

3. กรณีนำส่งยอดหนี้ที่เกินกำหนดชำระน้อยกว่าข้อเท็จจริง เนื่องจากไม่ได้รวมดอกเบี้ยตามสิทธิเรียกร้องนับแต่สัญญาสิ้นสุดนั้น เห็นว่า เป็นการรายงานข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อ 7(5) ของประกาศ กคค. เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูล ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 ที่กำหนดว่า ยอดหนี้คงเหลือและยอดหนี้ที่เกินกำหนดชำระให้รวมดอกเบี้ยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้อง

การปฏิบัติของสถาบันการเงินตามข้อ 2 และ ข้อ 3 จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 19 (2) ประกอบมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545

หมายเหตุ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คำนิยามของ "สมาชิก" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากประกอบด้วยสถาบันการเงิน แล้วจะครอบคลุม ถึงผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้วย โดยสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางฯ จะมีหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ แตกต่างจากสมาชิกประเภทสถาบันการเงินบางประการด้วย